หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563)
คณะเเพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต 7 ปี 2 ปริญญา หลักสูตรแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลตามเกณฑ์ WFME โดยสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาแพทยศาสตร์ (สมพ.) และแพทยสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร มหาวิทยาลัยที่ติดอันดับท๊อปเทนของโลก ที่ได้ร่วมเป็นที่ปรึกษาของการพัฒนาหลักสูตร และได้เข้าร่วมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตกับทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันระดมสมองจากทุกภาคส่วนในการที่จะพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตแนวใหม่ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และมีโรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการสนับสนุนภารกิจด้านการจัดการเรียนการสอนทางคลินิก โดยเป็นสถานฝึกปฏิบัติทางคลินิกหลักของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ของคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้วยมาตรฐานการเรียนแพทย์แบบใหม่ในหลักสูตรการศึกษาตามมาตรฐานสากล พร้อมสร้างแพทย์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีทักษะวิชาชีพที่เป็นเลิศ ดูแลผู้ป่วยและครอบครัวอย่างเป็นองค์รวม รู้จักคิด ค้นคว้าสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อพัฒนาสังคมและประเทศตามคุณลักษณะแพทย์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
คุณลักษณะของแพทย์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นอย่างไร
The CRA Doctor:
“A socially responsible and highly competent patient-centered clinician who is capable of creating research and innovation for the betterment of the society”
“คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีวิสัยทัศน์ที่มุ่งเน้นการสร้างแพทย์สมัยใหม่ที่มีคุณลักษณะเฉพาะของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือที่เรียกว่า The CRA Doctor คือการสร้างแพทย์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีจิตอาสา ทำประโยชน์เพื่อช่วยเหลือชุมชนและสังคม แพทย์ที่มีทักษะวิชาชีพที่เป็นเลิศ สอดคล้องกับมาตรฐานแพทยสภาและมาตรฐานสากล WFME และต้องเป็นแพทย์ที่สามารถดูแลผู้ป่วยและครอบครัวอย่างเป็นองค์รวม โดยรู้จักรักษาโรค รักษาใจ รักษาคน รวมถึงรู้จักคิดค้นคว้าวิจัย สร้างองค์ความรู้ใหม่ และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน”
หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตแนวใหม่ 7 ปี 2 ปริญญา คืออะไร
“หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563 ของคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร และเครือข่ายสถาบันการแพทย์ชั้นนำของประเทศ ได้แก่ โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นสถานฝึกปฏิบัติทางคลินิกหลักของหลักสูตร โดยมีโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และโรงพยาบาลพนมไพรจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นโรงพยาบาลร่วมสอน โดยหลักสูตรได้พัฒนาทั้งวิธีการเรียนการสอน การประเมิน การติดตามผลที่มุ่งบูรณาการความรู้ ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เทคโนโลยี และคิดค้นคว้านวัตกรรม พร้อมโอกาสที่จะได้เข้าร่วมศึกษาและทำงานวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ณ มหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร ยกระดับหลักสูตรการเรียนการสอนสู่มาตรฐานสากลเพื่อการผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีศักยภาพขั้นสูง นักศึกษาแพทย์ที่ได้เข้ามาศึกษาในหลักสูตรนี้จะใช้ระยะเวลาเรียน 7 ปี และเมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับ 2 ปริญญา คือ ปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต (พบ.) MD จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และปริญญา iBSc จากมหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร”
หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563) มีความแตกต่างจากหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตปกติอย่างไร
“นักศึกษาของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563 จะได้รับการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางการแพทย์รูปแบบใหม่ในหลักสูตรการศึกษาตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะแตกต่างจากหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตปกติ โดยหลักสูตรได้มีการจัดการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงในแนวราบของแต่ละชั้นปีเรียกว่า “Horizontal Modules” ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนรู้ด้วยการผสมผสานวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก โดยนักศึกษาจะเริ่มเรียนรู้จากผู้ป่วย และฝึกปฏิบัติด้วยสถานการณ์จำลองการเป็นแพทย์ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 พร้อมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองในพื้นฐานทางคลินิก โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอน และการประเมินอย่างต่อเนื่องผ่านเทคโนโลยีการศึกษา รวมถึงการปูพื้นฐานให้นักศึกษาฝึกหัดค้นคว้าและรู้จักใช้ข้อมูลที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสมผ่านกระบวนการ Evidence based practice และหลักสูตรเน้นการประเมินผลแบบ Formative Assessment เพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์ในทุกรายวิชาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีทักษะวิชาชีพที่เป็นเลิศ และเป็นแพทย์ที่มีคุณธรรมจริยธรรม รวมทั้งนักศึกษาจะได้ฝึกคิดค้นคว้าสิ่งใหม่ๆผ่านกระบวนการวิจัยตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 และได้เดินทางไปศึกษาและปฏิบัติเรียนรู้กระบวนการวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ณ มหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร พร้อมกันนี้หลักสูตรใหม่ยังได้มุ่งเน้นการบูรณาการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ครอบคลุมทุกสาขาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จนถึงปีที่ 7 โดยเชื่อมโยงการเรียนรู้ผ่าน “Vertical Modules” 6 คอลัมน์
- Doctor as scientist (Use of evidence)
- Doctor as practitioner (Clinical skills and practical procedure, use of medicines)
- Doctor as professional (clinical communication, ethics, patient pathways)
- Health of the public (social determinants of health)
- Thai culture and Health (Songkran module)
- General education (Digital health, The portfolio)
เพื่อฝึกให้นักศึกษาแพทย์ได้คิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ รู้จักใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย และมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องแบบเป็นองค์รวม และเป็นแพทย์ที่มีทักษะวิชาชีพที่เป็นเลิศ สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยและของโลก เพื่อสร้างแพทย์สมัยใหม่ที่มีคุณลักษณะเฉพาะในแบบของ CRA Doctor”
หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563) แบ่งการเรียนการสอนอย่างไร และเรียนที่ไหนบ้าง
สำหรับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563 ใช้ระยะเวลาศึกษา 7 ปี หรือ 14 ภาคการศึกษาระบบทวิภาค โดยแบ่งการเรียนการสอนออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1: Early years เรียนที่วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทย ประกอบด้วย
- ปีการศึกษาที่ 1: Becoming a doctor การศึกษาวิชาทั่วไป และเตรียมความพร้อมสู่ความเป็นแพทย์ โดยได้พัฒนาทักษะทางการแพทย์ และได้เริ่มเรียนรู้จากผู้ป่วยตั้งแต่ปีแรก
- ปีการศึกษาที่ 2: Fundamentals of clinical science I วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์แบบบูรณาการ I
- ปีการศึกษาที่ 3: Fundamentals of clinical science II วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์แบบบูรณาการ II
ระยะที่ 2: Research and Innovation ณ มหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร
- ปีการศึกษาที่ 4: นักศึกษาจะได้เดินทางไปศึกษาและปฏิบัติเรียนรู้กระบวนการวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเป็นระยะเวลา 1 ปีที่มหาวิทยาลัยยูซีแอล : University College London (UCL) สหราชอาณาจักร โดยมี 23 สาขาที่หลากหลายให้นักศึกษาได้เลือกเรียนตามที่สนใจ อาทิ Cardiovascular Science, Clinical Sciences, Global Health, Mathematics, Computers and Medicine, Medical Anthropology, Medical Physics and Bioengineering, Oncology, Orthopaedic Science, Policy, Communications and Ethics, Primary Health Care, Psychology, History and Philosophy of Science and Medicine, Sport & Exercise Medical Sciences, Women’s Health
ระยะที่ 3: Later years เป็นวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิกและการฝึกทักษะทางคลินิก ณ โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นสถานฝึกปฏิบัติทางคลินิกหลักของหลักสูตร และโรงพยาบาลสมทบในการเรียนการสอน ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และโรงพยาบาลพนมไพรจังหวัดร้อยเอ็ด ประกอบด้วย
- ปีการศึกษาที่ 5: Integrated Clinical Care I
- ปีการศึกษาที่ 6: Life Cycle, Mental Health, Integrated Clinical Care II
- ปีการศึกษาที่ 7: Externship and Preparation for Practice
จำนวนการรับนักศึกษาต่อปีการศึกษา
หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะเปิดรับนักศึกษาแพทย์รุ่นแรกในปีการศึกษา 2563 จำนวน 32 คน
คุณสมบัติและเกณฑ์การรับสมัครนักศึกษา
1. เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ กำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีสุดท้าย และกำลังจะสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2562 จากระบบการศึกษา ระบบใดระบบหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1.1 ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า ตามระบบของกระทรวงศึกษาธิการ หรือ
1.2 ระดับ Grade 12 ตามระบบการศึกษาแบบอเมริกัน หรือ
1.3 ระดับ Year 13 ตามระบบการศึกษาแบบอังกฤษ
2. มีผลคะแนนสอบ ข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
2.1 ผลการสอบในระดับ AS หรือ A level โดยใน 3 รายวิชา ได้แก่ (1) Biology (2) Chemistry และ (3) Mathematics หรือ Physics จะต้องมีคะแนนแต่ละรายวิชาในระดับมากกว่าหรือเท่ากับ A หรือ
2.2 ผลการสอบ International Baccalaureate (IB) ระบุคะแนนสอบใน 3 รายวิชาได้แก่ (1) Biology (2) Chemistry ในระดับ Higher Level โดยมีคะแนนแต่ละรายวิชา ในระดับมากกว่าหรือเท่ากับ 6 และ (3) Mathematics ในระดับ Standard Level โดยมีคะแนน ในระดับมากกว่าหรือเท่ากับ 6 หรือ
3. ผลการสอบ Scholastic Assessment Test – subject test (SAT II) ระบุคะแนนสอบใน 3 รายวิชา ได้แก่ (1) Biology Molecular (Biology-M) (2) Chemistry และ
(3) Mathematics Level 2 หรือ Physics โดยจะต้องมีคะแนนแต่ละวิชาในระดับมากกว่าหรือเท่ากับ 700
4. มีผลการทดสอบความสามารถภาษาอังกฤษ ข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
4.1 The International English Language Testing System (IELTS) Academic มากกว่าหรือเท่ากับ 7.0 หรือ
4.2 Test of English as a Foreign Language Internet-based Test (TOEFL iBT) มากกว่าหรือเท่ากับ 100 คะแนน
*** ทั้งนี้ผลการทดสอบต้องมีอายุไม่เกิน ๒ ปี นับจากวันที่รับสมัครวันสุดท้าย ***
สามารถติดตามรายละเอียดการรับสมัครได้ทาง เฟสบุค https://www.facebook.com/MDPH.CRA และ www.pccms.ac.th
หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โทร 0 2105 4669 ต่อ 8477, 8481, 8485 (ในวันและเวลาราชการ)