เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ 9 สถาบัน ทำพิธีลงนาม องค์กรภาคีเครือข่าย 10 สถาบัน เพื่อผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ ด้วยการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาตั้งเป้าผลิตจำนวนบัณฑิต 15,000 คน ใน 10 ปี จากปัจจุบันเพียงปีละ 200 คน
ภายในงานได้รับเกียรติจาก ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นสักขีพยาน พร้อมตัวแทนผู้บริหารสถานศึกษาชั้นนำและสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ รวม 10 สถาบันร่วมลงนามเห็นชอบ ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ ชั้น 2 ห้อง Magic 2 กรุงเทพฯ
ศาสตราจารย์คลินิก แพทย์หญิงโฉมศรี โฆษิตชัยวัฒน์ อธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยว่า การบริการการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล เป็นงานบริการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบสุขภาพของประเทศ โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า การที่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการปฏิบัติการทางการแพทย์ขั้นสูงตั้งแต่เมื่ออยู่นอกโรงพยาบาล ทำให้มีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ ดังนั้นการบริการการแพทย์ฉุกเฉินจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการทำหน้าที่บริบาลผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล อันเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉิน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2551 และเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ได้มีประกาศ “พระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขาฉุกเฉินการแพทย์เป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2564” โดยให้มีคณะกรรมการวิชาชีพทำหน้าที่ในการขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาฉุกเฉินการแพทย์ ซึ่งผู้ที่มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ ต้องได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรสาขาอื่นที่เทียบเท่าปริญญาด้านฉุกเฉินการแพทย์
ประเทศไทย ได้เริ่มมีการจัดการศึกษาด้านฉุกเฉินการแพทย์ระดับปริญญามาแล้วประมาณ 13 ปี ตราบจนปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้สำเร็จการศึกษาสาขาฉุกเฉินการแพทย์ที่มีความสามารถในระดับนี้จำนวน 674 คน (ข้อมูลเดือนเมษายน พ.ศ. 2565) อัตราการผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ เพียงปีละ 180-200 คนเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ ดังนั้นในฐานะหน่วยงานจัดการศึกษาด้านฉุกเฉินการแพทย์ระดับปริญญาในประเทศไทยร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จึงได้ร่วมกันหาทางออกเพื่อให้ประเทศมีบุคลากรด้านฉุกเฉินการแพทย์ที่มีความสามารถระดับสูงอย่างเพียงพอและรวดเร็ว โดยใช้โอกาสจากการที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีนโยบายในเรื่องการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา นำมาสู่งานแถลงข่าวการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ เพื่อตอบสนองนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า โครงการฯ นี้ ได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานชั้นนำ แบ่งบทบาทความรับผิดชอบของแต่ละส่วน ประกอบด้วย คณะกรรมการวิชาชีพสาขาฉุกเฉินการแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ บทบาทคือ เป็นองค์กรรับรองความรู้ในวิชาชีพของผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาสาขาฉุกเฉินการแพทย์ ให้มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาฉุกเฉินการแพทย์, วิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย บทบาท คือ ร่วมมือในการจัดหาและเตรียมความพร้อมให้อาจารย์ผู้สอน, สถาบันฝึกอบรมความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินทุกแห่ง บทบาทคือ เป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติการ และจัดหาอาจารย์ผู้สอน, กระทรวง กรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสภากาชาดไทย รวมทั้งสถานพยาบาลและหน่วยปฏิบัติการอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน บทบาทคือ เป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติการ จัดหาอาจารย์ผู้สอน และครูช่วยฝึกปฏิบัติการ รวมทั้งเป็นผู้ใช้บัณฑิต ระยะเวลาการดำเนินการปีงบประมาณ 2566 – 2575 (เริ่มรับผู้เรียนปีงบประมาณ 2566 – 2570 เริ่มมีผู้จบการศึกษาปี 2568 เป็นต้นไป) จำนวนบัณฑิตที่คาดว่าจะผลิต 15,000 คน โดยวันนี้ได้รับเกียรติจาก อธิการบดีและตัวแทน 10 สถาบัน ร่วมลงนามในความร่วมมือ ประกอบด้วย
1. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
2. มหาวิทยาลัยมหิดล
3. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4. มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
5. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
6. มหาวิทยาลัยพะเยา
7. มหาวิทยาลัยบูรพา
8. มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
9. สถาบันพระบรมราชชนก
10. วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ตั้งเป้าผลสัมฤทธิ์ บัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ที่จะสำเร็จการศึกษา ต้องสามารถปฏิบัติงานด้านฉุกเฉินการแพทย์ โดยครอบคลุมความรู้ทักษะ และความสามารถในระดับผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาฉุกเฉินการแพทย์ โดยต้องมีความรู้ ทักษะ และความสามารถครอบคลุมด้านต่าง ๆ อย่างน้อยดังต่อไปนี้ ด้านคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ หมายถึง ความเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม เจตคติ และกิจนิสัยที่ดี ด้านความรู้ หมายถึง ความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริง หลักการ ทฤษฎี และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ฉุกเฉิน โดยเน้นความรู้เชิงทฤษฎีและ/หรือข้อเท็จจริงเป็นหลัก เช่น ความรู้ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานฉุกเฉิน ระบบสุขภาพของประเทศไทย ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยและนานาชาติหลักการพื้นฐานด้านระบบคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย รวมทั้งมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉิน ด้านทักษะ หมายถึง ความสามารถปฏิบัติงาน ซึ่งนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ควรทำได้เมื่อได้รับมอบหมาย ประกอบด้วย ทักษะด้านกระบวนการคิด (Cognitive Skills) ทักษะการหยั่งรู้และความคิดสร้างสรรค์ (Logical, Intuitive, and Creative Thinking) หรือทักษะการปฏิบัติ/วิธีปฏิบัติที่มีความคล่องแคล่วและความชำนาญในการปฏิบัติตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ระดับ ๖ ได้แก่ ทักษะทางปัญญา ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ทักษะพิสัย ด้านความสามารถในการประยุกต์ใช้และความรับผิดชอบ ซึ่งประกอบไปด้วยความสามารถในการสื่อสาร ภาวะผู้นำ ความรับผิดชอบ (Responsibility) และความเป็นอิสระ (Autonomy) ในการดำเนินการต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง เช่น ความสามารถในการตัดสินใจและความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น
คาดว่าหลังจากนี้ ประเทศไทยจะมีหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ระดับสูง ซึ่งมีผู้ปฏิบัติการที่เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาฉุกเฉินการแพทย์ เพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่หรือภูมิประเทศที่ไม่มีผู้ปฏิบัติการ หน่วยปฏิบัติการ หรือสถานพยาบาลเพียงพอ อันจะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม มีคุณภาพมาตรฐาน โดยได้รับการช่วยเหลือและรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์มากขึ้น หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์เดิมได้พัฒนาศักยภาพให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น รวมทั้งได้พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของหน่วยปฏิบัติการและสถานพยาบาลที่เป็นแหล่งฝึกปฏิบัติการ เรียนรู้วิธีการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ ซึ่งผลิตบัณฑิตได้ตรงต่อความต้องการของผู้ใช้ที่สุด ด้วยการสร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้บัณฑิต สามารถต่อยอดการผลิตนักฉุกเฉินการแพทย์เฉพาะทางได้ และพัฒนาต้นแบบของรูปแบบการศึกษาแนวใหม่ในการผลิตบัณฑิตสายวิชาชีพด้านสุขภาพ ที่เป็นสาขาขาดแคลนของประเทศ