โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ MED PCCMS CRA ณ ซแรย์ อทิตยา

ศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงจิรายุ เอื้อวรากุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมคณาจารย์และบุคลากรในคณะฯ เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ณ “โรงเรียนชาวนา ซแรย์ อทิตยา” จ.สุรินทร์ ระหว่างวันที่ 30 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2561 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำวิสัยทัศน์ พันธกิจและแผนกลยุทธ์ของคณะฯ ด้านการศึกษา การวิจัย และการบริการทางวิชาการ เพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาองค์กร ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และของประเทศ

ทั้งนี้ โรงเรียนชาวนา โครงการซแรย์ อทิตยา ตั้งอยู่ในบริเวณอ่างเก็บน้ำอำปึล ต.เทนมีย์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ เป็นหนึ่งในโครงการพิเศษใน พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ โดยทรงตั้งพระทัยให้ที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้การเกษตรในพระดำริภายใต้การดูแลของ ‘โครงการเกษตรอทิตยาทร’ ซึ่งทางคณะฯ ได้เลือกไปจัดสัมมนา และทำกิจกรรมที่โรงเรียนชาวนาในโครงการเกษตรอทิตยาทร เพื่อต้องการให้อาจารย์แพทย์ทั้งพรีคลินิกและคลินิกของคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้เรียนรู้ในเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง วิถีความเป็นอยู่ของชาวบ้านและเกษตรกร โดยการเข้าร่วมทำกิจกรรมจากฐานการเรียนรู้เกษตร เช่น ทรัพยากรดิน และการฟื้นฟูดิน การตรวจสอบ และประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดิน รวมถึงการเตรียมดินเพื่อการเพาะปลูกข้าวจากนวัตกรรรมทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบัน เช่น การใช้แอพพลิเคชั่นในการสำรวจดินและแร่ธาตุซึ่งนำมาต่อยอดผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น และยังได้สัมผัสความงามอย่างพอเพียงในบรรยากาศท้องทุ่งนา และทดลองปักดำนาในแปลงนาที่เป็นกิจกรรมร่วมกับทางโครงการอีกด้วย

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และรักษาการอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และคณาจารย์ ได้นำผ้าห่ม สิ่งของจำเป็น และเงินบริจาคในโครงการ Share for Child มอบให้กับเด็กนักเรียนผู้ยากไร้ ณ โรงเรียนบ้านอำปึล โดยท่านผอ.โรงเรียนและเด็กๆได้ให้การต้อนรับด้วยรอยยิ้มได้อิ่มบุญกันอย่างทั่วถึง พร้อมกันนี้ได้เข้าเยี่ยมชมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเทนมีย์และโรงพยาบาลจังหวัดสุรินทร์ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านบริการวิชาการและการวิจัยร่วมกัน