หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563) คณะเเพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563)

คณะเเพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต 7 ปี 2 ปริญญา หลักสูตรแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลตามเกณฑ์ WFME โดยสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาแพทยศาสตร์ (สมพ.) และแพทยสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร มหาวิทยาลัยที่ติดอันดับท๊อปเทนของโลก ที่ได้ร่วมเป็นที่ปรึกษาของการพัฒนาหลักสูตร และได้เข้าร่วมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตกับทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันระดมสมองจากทุกภาคส่วนในการที่จะพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตแนวใหม่ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และมีโรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการสนับสนุนภารกิจด้านการจัดการเรียนการสอนทางคลินิก โดยเป็นสถานฝึกปฏิบัติทางคลินิกหลักของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ของคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้วยมาตรฐานการเรียนแพทย์แบบใหม่ในหลักสูตรการศึกษาตามมาตรฐานสากล พร้อมสร้างแพทย์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีทักษะวิชาชีพที่เป็นเลิศ ดูแลผู้ป่วยและครอบครัวอย่างเป็นองค์รวม รู้จักคิด ค้นคว้าสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อพัฒนาสังคมและประเทศตามคุณลักษณะแพทย์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

คุณลักษณะของแพทย์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นอย่างไร

The CRA Doctor:

“A socially responsible and highly competent patient-centered clinician who is capable of creating research and innovation for the betterment of the society”

“คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีวิสัยทัศน์ที่มุ่งเน้นการสร้างแพทย์สมัยใหม่ที่มีคุณลักษณะเฉพาะของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือที่เรียกว่า The CRA Doctor คือการสร้างแพทย์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีจิตอาสา ทำประโยชน์เพื่อช่วยเหลือชุมชนและสังคม แพทย์ที่มีทักษะวิชาชีพที่เป็นเลิศ สอดคล้องกับมาตรฐานแพทยสภาและมาตรฐานสากล WFME และต้องเป็นแพทย์ที่สามารถดูแลผู้ป่วยและครอบครัวอย่างเป็นองค์รวม โดยรู้จักรักษาโรค รักษาใจ รักษาคน รวมถึงรู้จักคิดค้นคว้าวิจัย สร้างองค์ความรู้ใหม่ และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน”

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตแนวใหม่ 7 ปี 2 ปริญญา คืออะไร

“หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563 ของคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร และเครือข่ายสถาบันการแพทย์ชั้นนำของประเทศ ได้แก่ โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นสถานฝึกปฏิบัติทางคลินิกหลักของหลักสูตร โดยมีโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และโรงพยาบาลพนมไพรจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นโรงพยาบาลร่วมสอน โดยหลักสูตรได้พัฒนาทั้งวิธีการเรียนการสอน การประเมิน การติดตามผลที่มุ่งบูรณาการความรู้ ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เทคโนโลยี และคิดค้นคว้านวัตกรรม พร้อมโอกาสที่จะได้เข้าร่วมศึกษาและทำงานวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ณ มหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร ยกระดับหลักสูตรการเรียนการสอนสู่มาตรฐานสากลเพื่อการผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีศักยภาพขั้นสูง นักศึกษาแพทย์ที่ได้เข้ามาศึกษาในหลักสูตรนี้จะใช้ระยะเวลาเรียน 7 ปี และเมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับ 2 ปริญญา คือ ปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต (พบ.) MD จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และปริญญา iBSc จากมหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร”

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563) มีความแตกต่างจากหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตปกติอย่างไร

“นักศึกษาของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563 จะได้รับการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางการแพทย์รูปแบบใหม่ในหลักสูตรการศึกษาตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะแตกต่างจากหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตปกติ โดยหลักสูตรได้มีการจัดการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงในแนวราบของแต่ละชั้นปีเรียกว่า “Horizontal Modules” ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนรู้ด้วยการผสมผสานวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก โดยนักศึกษาจะเริ่มเรียนรู้จากผู้ป่วย และฝึกปฏิบัติด้วยสถานการณ์จำลองการเป็นแพทย์ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 พร้อมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองในพื้นฐานทางคลินิก โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอน และการประเมินอย่างต่อเนื่องผ่านเทคโนโลยีการศึกษา รวมถึงการปูพื้นฐานให้นักศึกษาฝึกหัดค้นคว้าและรู้จักใช้ข้อมูลที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสมผ่านกระบวนการ Evidence based practice และหลักสูตรเน้นการประเมินผลแบบ Formative Assessment เพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์ในทุกรายวิชาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีทักษะวิชาชีพที่เป็นเลิศ และเป็นแพทย์ที่มีคุณธรรมจริยธรรม รวมทั้งนักศึกษาจะได้ฝึกคิดค้นคว้าสิ่งใหม่ๆผ่านกระบวนการวิจัยตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 และได้เดินทางไปศึกษาและปฏิบัติเรียนรู้กระบวนการวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ณ มหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร พร้อมกันนี้หลักสูตรใหม่ยังได้มุ่งเน้นการบูรณาการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ครอบคลุมทุกสาขาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จนถึงปีที่ 7 โดยเชื่อมโยงการเรียนรู้ผ่าน “Vertical Modules” 6 คอลัมน์

  • Doctor as scientist (Use of evidence)
  • Doctor as practitioner (Clinical skills and practical procedure, use of medicines)
  • Doctor as professional (clinical communication, ethics, patient pathways)
  • Health of the public (social determinants of health)
  • Thai culture and Health (Songkran module)
  • General education (Digital health, The portfolio)

เพื่อฝึกให้นักศึกษาแพทย์ได้คิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ รู้จักใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย และมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องแบบเป็นองค์รวม และเป็นแพทย์ที่มีทักษะวิชาชีพที่เป็นเลิศ สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยและของโลก เพื่อสร้างแพทย์สมัยใหม่ที่มีคุณลักษณะเฉพาะในแบบของ CRA Doctor”

 

 

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563) แบ่งการเรียนการสอนอย่างไร และเรียนที่ไหนบ้าง

สำหรับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563 ใช้ระยะเวลาศึกษา 7 ปี หรือ 14 ภาคการศึกษาระบบทวิภาค โดยแบ่งการเรียนการสอนออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1: Early years เรียนที่วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทย ประกอบด้วย

  • ปีการศึกษาที่ 1: Becoming a doctor การศึกษาวิชาทั่วไป และเตรียมความพร้อมสู่ความเป็นแพทย์ โดยได้พัฒนาทักษะทางการแพทย์ และได้เริ่มเรียนรู้จากผู้ป่วยตั้งแต่ปีแรก
  • ปีการศึกษาที่ 2: Fundamentals of clinical science I วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์แบบบูรณาการ I
  • ปีการศึกษาที่ 3: Fundamentals of clinical science II วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์แบบบูรณาการ II

ระยะที่ 2: Research and Innovation ณ มหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร

ระยะที่ 3: Later years เป็นวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิกและการฝึกทักษะทางคลินิก ณ โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นสถานฝึกปฏิบัติทางคลินิกหลักของหลักสูตร และโรงพยาบาลสมทบในการเรียนการสอน ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และโรงพยาบาลพนมไพรจังหวัดร้อยเอ็ด ประกอบด้วย

  • ปีการศึกษาที่ 5: Integrated Clinical Care I
  • ปีการศึกษาที่ 6: Life Cycle, Mental Health, Integrated Clinical Care II
  • ปีการศึกษาที่ 7: Externship and Preparation for Practice

จำนวนการรับนักศึกษาต่อปีการศึกษา

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะเปิดรับนักศึกษาแพทย์รุ่นแรกในปีการศึกษา 2563 จำนวน 32 คน

คุณสมบัติและเกณฑ์การรับสมัครนักศึกษา

1. เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ กำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีสุดท้าย และกำลังจะสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2562 จากระบบการศึกษา ระบบใดระบบหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1.1 ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า ตามระบบของกระทรวงศึกษาธิการ หรือ
1.2 ระดับ Grade 12 ตามระบบการศึกษาแบบอเมริกัน หรือ
1.3 ระดับ Year 13 ตามระบบการศึกษาแบบอังกฤษ

2. มีผลคะแนนสอบ ข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
2.1 ผลการสอบในระดับ AS หรือ A level โดยใน 3 รายวิชา ได้แก่ (1) Biology (2) Chemistry และ (3) Mathematics หรือ Physics จะต้องมีคะแนนแต่ละรายวิชาในระดับมากกว่าหรือเท่ากับ A หรือ
2.2 ผลการสอบ International Baccalaureate (IB) ระบุคะแนนสอบใน 3 รายวิชาได้แก่ (1) Biology (2) Chemistry ในระดับ Higher Level โดยมีคะแนนแต่ละรายวิชา ในระดับมากกว่าหรือเท่ากับ 6 และ (3) Mathematics ในระดับ Standard Level โดยมีคะแนน ในระดับมากกว่าหรือเท่ากับ 6 หรือ

3. ผลการสอบ Scholastic Assessment Test – subject test (SAT II) ระบุคะแนนสอบใน 3 รายวิชา ได้แก่ (1) Biology Molecular (Biology-M) (2) Chemistry และ
(3) Mathematics Level 2 หรือ Physics โดยจะต้องมีคะแนนแต่ละวิชาในระดับมากกว่าหรือเท่ากับ 700

4. มีผลการทดสอบความสามารถภาษาอังกฤษ ข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
4.1 The International English Language Testing System (IELTS) Academic มากกว่าหรือเท่ากับ 7.0 หรือ
4.2 Test of English as a Foreign Language Internet-based Test (TOEFL iBT) มากกว่าหรือเท่ากับ 100 คะแนน

*** ทั้งนี้ผลการทดสอบต้องมีอายุไม่เกิน ๒ ปี นับจากวันที่รับสมัครวันสุดท้าย ***

สามารถติดตามรายละเอียดการรับสมัครได้ทาง เฟสบุค https://www.facebook.com/MDPH.CRA และ www.pccms.ac.th

หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โทร 0 2105 4669 ต่อ 8477, 8481, 8485 (ในวันและเวลาราชการ)